top of page

สร้างความรู้ ขยายความเข้าใจเพื่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม

bp1.jpg

สุขภาพจิตดี หมายถึง ไม่มีอารมณ์ด้านลบ ?

โดยธรรมชาติ "อารมณ์ความรู้สึก" เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เรามีทั้งอารมณ์ด้านบวกและลบเกิดขึ้นได้อยู่เสมอ แต่สำหรับหลายคนการจะยอมรับว่าตนเองกำลังมีอารมณ์ด้านลบนั้นช่างเป็นเรื่องยาก อาจทั้งด้วยความคาดหวังที่มีต่อตนเอง ความคาดหวังจากสังคมให้คนเราต้องดี ต้องเก่ง ต้องพร้อม ต้องเข้มแข็งสมบูรณ์พร้อมอยู่เสมอ หรือเพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับธรรมชาติของอารมณ์ และเพื่อที่จะเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดีตามที่เข้าใจว่าต้องเป็นคนที่ไม่มีอารมณ์ด้านลบ หลายคนพยายามสลัดทิ้งอารมณ์ด้านลบทั้งหมดหรือพยายามเก็บกดกลั้นไว้ ไม่สามารถยอมรับอารมณ์ด้านลบของตนเองได้อย่างตรงไปตรงมา แม้อารมณ์ด้านลบนั้นจะถูกซ่อนไว้ มองไม่เห็น แต่อารมณ์ด้านลบเหล่านี้อาจจะยังไม่หายไปและยังเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำที่ส่งผลรบกวนใจ...
เพราะเราไม่ใช่หุ่นยนต์ เราจึงท้อได้ เหนื่อยได้ เบื่อได้ เศร้าได้ โกรธได้ กลัวได้....
มีงานวิจัยที่ศึกษาถึง “ความสามารถในการตระหนักรับรู้อารมณ์ตนเอง” (Emotional Awareness) ซึ่งพบว่า เป็นปัจจัยพยากรณ์ (transdiagnostic factor) เกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคทางจิตเวช (Kranzler et al., 2016) การที่บุคคลมีความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ต่ำ ไม่สามารถรับรู้ยอมรับอารมณ์ของตนเองได้อย่างตรงไปตรงมานี้เองส่งผลให้บุคคลมีกลไกการปรับตัวที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่สามารถตระหนักรู้ได้ถึงภาวะอารมณ์ที่ตนเองเผชิญอยู่ทำให้ไม่สามารถปรับตัวกับอารมณ์ทางลบนั้นได้ (Flynn & Rudolph, 2010) เพราะการตระหนักรู้อารมณ์เป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการเรียนรู้เพื่อหาวิธีการรับมือและปรับตัวที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้การตระหนักรับรู้อารมณ์ หมายถึง ความสามารถที่บุคคลจะอธิบาย ระบุ จำแนก ประสบการณ์ด้านความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของตนเองออกมาได้ โดยเฉพาะอารมณ์ด้านลบ การปล่อยให้ตนเองได้สัมผัสกับประสบการณ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอย่างเต็มที่อย่างเข้าใจ โดยสนใจการดำรงอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่การอยู่กับอดีตหรืออนาคต โดยให้อารมณ์นั้นเกิดขึ้นผ่านเข้ามาและผ่านไปโดยไม่พยายามผลักไสหรือรักษาไว้ ซึ่งการตระหนักรับรู้ในอารมณ์ด้านลบอาจไม่ใช่ “ความรู้สึกดี” แต่การได้เรียนรู้อารมณ์ลบนี้จะทำให้บุคคลเกิดประสบการณ์ทางอารมณ์และเกิดการเรียนรู้
การตระหนักรู้ในอารมณ์นั้นไม่ได้หมายถึงการยอมรับต่อสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมนั้น แต่เป็นการ “ยอมรับในอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้น” เพื่อที่จะจัดการ ทำความเข้าใจ เพื่อตอบสนองใหม่ให้เหมาะสม และเมื่อเราปล่อยให้อารมณ์เชิงลบนั้นเกิดขึ้นเป็นไปตามธรรมชาติ เราจะสามารถเรียนรู้ หากไม่ยอมให้อารมณ์เชิงลบนั้นเกิด กดกลั้นไว้ อารมณ์นั้นจะเป็นเสมือนคลื่นรบกวนที่ควบคุมได้ยากยิ่งขึ้น (Barlow, 2014)
วันนี้เหนื่อยไหมคะ ท้อแท้บ้างไหม กังวลใจอะไรบ้างหรือเปล่า ลองหาพื้นที่ที่คุณรู้สึกปลอดภัย และกล้าหาญที่จะอ่อนแอ... อนุญาตให้ตัวเองได้รับรู้ถึงความรู้สึกด้านลบ ความรู้สึกที่อาจไม่สมบูรณ์พร้อมที่อาจเกิดขึ้นได้ แล้วค่อยๆ กลับมาดูแลอารมณ์เหล่านี้กันนะคะ
บทความโดย บุญจิรา ชลธารนที นักจิตวิทยา


เอกสารอ้างอิง

• Barlow, D. H. (2014). Clinical handbook of psychological disorders: A step-by-step treatment manual: Guilford publications.

• Flynn, M., & Rudolph, K. D. J. J. o. a. d. p. (2010). The contribution of deficits in emotional clarity to stress responses and depression. 31(4), 291-297.

• Kranzler, A., Young, J. F., Hankin, B. L., Abela, J. R., Elias, M. J., & Selby, E. A. (2016). Emotional awareness: A transdiagnostic predictor of depression and anxiety for children and adolescents. Journal of Clinical Child & Adolescent Psychology, 45(3), 262-269.

bp2.jpg
bp3.jpg

สังเกตตัวเองอย่างไร ว่าเราจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

เพราะอารมณ์เป็นสิ่งสำคัญ แต่กลับมองไม่เห็นและจับต้องไม่ได้… เราจึงอาจจะได้พบเจอคนรู้จัก โดยที่อาจไม่เคยนึกหรือรับรู้ได้เลย ว่าเขากำลังประสบความยากลำบากทางอารมณ์ … #suicidalawareness

อันที่จริงแล้วไม่เพียงเฉพาะเราไม่เข้าใจคนอื่น คนอื่นไม่เข้าใจเรา บางครั้งคนเราก็ยังไม่เข้าใจตัวเอง ว่ามั้ยคะ …

วันนี้ขอชวนกัน กลับมาตั้งหลักดูแลอารมณ์ สิ่งสำคัญที่มองไม่เห็นเพื่อจะได้ถนอมดูแลใจนี้ไว้เสมอๆ…

คุณ คือ ผู้ดูแลคนสำคัญ

เพราะอารมณ์นั้นซับซ้อนและไม่ง่ายนักที่บุคคลจะสามารถ “ยอมรับความรู้สึก” ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความรู้สึกที่เป็นปัญหารบกวนใจมักเป็นสิ่งที่เราไม่อยากยุ่งด้วย ไม่อยากรับรู้ให้แจ่มชัด เหมือนเวลาที่เราไม่ชอบอะไร สิ่งที่เรามักทำจึงเป็นการหลีกเลี่ยงและไม่อยากข้องเกี่ยว

ในทางจิตวิทยาเราพูดถึงทักษะหนึ่งที่เรียกว่า “ความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์” (Emotional Awareness Skills) ซึ่งมีงานวิจัยที่ศึกษาทำความเข้าใจถึงที่มาของปัญหาสุขภาพจิต “ทักษะการตระหนักรู้ทางอารมณ์” ถูกอธิบายในฐานะปัจจัยพยากรณ์หนึ่งที่สำคัญ

การเรียก “ความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์” ว่าเป็น “ทักษะ” เพราะทักษะนั้นหมายถึงสิ่งที่เราสามารถฝึกฝนและพัฒนาได้ เช่นเดียวกับ ทักษะทางกีฬา ดนตรี ทักษะทางอารมณ์เองก็สามารถเรียนรู้และฝึกฝนได้เช่นกัน

((( มีงานวิจัยที่อธิบายที่มาที่ไปของทักษะนี้ว่าถูกหล่อหลอมขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านการเรียนรู้ การดูตัวอย่าง ซึ่งหากผู้ดูแลเลี้ยงดูสามารถเอื้อพื้นที่ให้เด็กมีโอกาสได้รับรู้อารมณ์ตนเองอย่างตรงไปตรงมาไม่ตัดสิน ช่วยสะท้อนให้เด็กเข้าใจอารมณ์ตนเอง ให้ความเข้าอกเข้าใจ เรียนรู้รับมือไปด้วยกันก็จะเป็นพื้นสำคัญในการส่งเสริมทักษะเหล่านี้…แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะฝึกฝนกันในวัยผู้ใหญ่ไม่ได้นะคะ )))

สรุปแล้ว ถ้าบุคคลไม่สามารถตระหนักรับรู้ได้ว่า ตนเองกำลังมีความไม่สบายทางอารมณ์บางอย่างได้ ก็ย่อมไม่นำพาไปสู่การดูแลอย่างเหมาะสม เปรียบเทียบเช่น หากเราตระหนักได้ว่าเราชักจะเริ่มเจ็บคอ เบื้องต้นเราก็จะลองแก้ปัญหาที่อาจเกี่ยวข้องทั้งจากปัจจัยภายนอกและภายใน เช่น ลดอาหารทอด ดื่มน้ำมากขึ้น ใช้ยาอมบรรเทาอาการ…ถ้าไม่ดีขึ้นอาจจะเริ่มไปปรึกษาเภสัชกรเพื่อใช้ยา หรือไปพบแพทย์ในที่สุด…

การที่เรามาตั้งต้นว่าจะมาใส่ใจรับรู้ดูแลอารมณ์ตนเองจึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ กลับมารับรู้ และอาจจะให้เวลาสักหน่อย หาพื้นที่ปลอดภัยที่เราจะได้สำรวจรับรู้อารมณ์ตนเองตรงตามจริง เพราะอารมณ์ความรู้สึกก็มีที่มาที่ไปก็เช่นกัน…เมื่อเราตระหนักรับรู้ได้ ก็เป็นหนทางการกลับมาดูแล ถนอม เยียวยากันต่อไป

สังเกตการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบอย่างสำคัญ

ทั้งนี้ในฐานะมนุษย์พวกเราต่างต้องเคยผ่านช่วงเวลาที่ไม่สบายอารมณ์กันมาทุกคน แต่หากปัญหาทางอารมณ์เหล่านี้ เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น (Intensity ) เกิดขึ้น โดยมีระยะเวลานาน (Duration) หรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง (frequency) ไม่สามารถก้าวข้ามปรับตัวรับมือไปได้และเริ่มมีผลกระทบที่เกิดขึ้นจนเริ่มฉายชัดออกมาให้เราได้สังเกต

แม้การรับรู้อารมณ์ตนเองเป็นการสังเกตตนเองจากภายในที่สำคัญอย่างมาก นอกจากสังเกตจากภายในแล้ว เราอาจสังเกตและตระหนักตนเองจากการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ โดยอาจใช้กรอบคิดนี้เป็นแนวทางคร่าวๆ ในการได้กลับมาตรวจเช็คสุขภาพอารมณ์ของตนเองและคนรอบข้างกันอีกทาง สะท้อนถึงว่า ปัญหาการปรับตัว/สุขภาพจิตที่เกิดขึ้นนี้ ควรได้รับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ

การเปลี่ยนแปลงด้านบุคลิกภาพส่วนตน (Personal)

เมื่อปัญหาทางอารมณ์เริ่มมีความเข้มข้นมากขึ้น จนเริ่มรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของตนเองที่ต่างไปจากเดิม โดยเฉพาะอารมณ์ต่อสิ่งต่างๆ ที่เคยสัมพันธ์ปกตินั้นเปลี่ยนแปลงไป เช่น ความชอบ ความสนใจเดิม ระดับอารมณ์อุปนิสัยการใช้ชีวิตประจำวัน เปลี่ยนไปจากเดิม

การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อหน้าที่ทางสังคม (Social Functioning)

หากปัญหาทางอารมณ์ที่เกิดนี้เริ่มส่งผลต่อบทบาทหน้าที่ทางสังคมในมิติต่างๆ เมื่อปัญหาทางอารมณ์เริ่มมีความเข้มข้นก็จะเริ่มส่งผลต่อประสิทธิภาพหรือการใช้ชีวิตประจำวันให้เป็นปกติ ต้องใช้ความพยายามอย่างมากสำหรับการใช้ชีวิตให้ปกติได้ ก่อให้เกิดความยากลำบาก บีบคั้น ต่อการจะรับผิดชอบหน้าที่ตามบทบาทต่างๆที่มีและเริ่มส่งผลต่อปัญหาความสัมพันธ์ในมิติต่างๆ ตามมา

การเปลี่ยนแปลงด้านการใช้ชีวิต การทำหน้าที่การทำงาน การเรียน (Occupation or Education Functioning)

เมื่อปัญหาทางอารมณ์เริ่มมีความเข้มข้น ยาวนานและบ่อยครั้งก็จะส่งผลอย่างสำคัญต่อหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก เช่น ประสิทธิภาพด้านการเรียน การทำงานที่จะพร่องประสิทธิภาพและฉายชัดเป็นปัญหาออกมาให้รับรู้ได้

ดังนั้นอาจลองสังเกตการเปลี่ยนต่างๆ นี้ เป็นอีกตัวช่วยสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาทางอารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างสำคัญ เพราะการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตตั้งแต่เริ่มต้น(Early Intervention) ย่อมสามารถช่วยลดปัญหาและผลกระทบที่จะเกิดตามมาได้

และการพบนักจิตวิทยาจึงไม่ได้ถูกจำกัดเพียงเฉพาะการบำบัดเยียวยา แต่ยังใช้เป็นกระบวนการซึ่งเอื้อให้เกิดความเข้าใจในตนเอง คลี่คลายความไม่สบายใจ พัฒนาทักษะทางอารมณ์ การค้นพบความหมายและคุณค่าตามศักยภาพแห่งตน

เพราะการดูแลสุขภาพใจเป็นเรื่องสำคัญ

บทความโดย บุญจิรา ชลธารนที

นักจิตวิทยา

เอกสารอ้างอิง

Huberty, T. J. (2012b). The Developmental Psychopathology of Anxiety. In Anxiety and Depression in Children and Adolescents (pp. 29-53): Springer.

Kranzler, A., Young, J. F., Hankin, B. L., Abela, J. R., Elias, M. J., & Selby, E. A. (2016). Emotional awareness: A transdiagnostic predictor of depression and anxiety for children and adolescents. Journal of Clinical Child & Adolescent Psychology, 45(3), 262-269.

274939633_670375561043836_1569636148562876185_n.jpg

รับมือเบื้องต้นอย่างไร ถ้าคนที่คุณห่วงใย

ยังไม่พร้อมไปพบผู้เชี่ยวชาญ…

หากมีคนที่เรารักกำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากจนเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาวะอย่างสำคัญ สถานการณ์เช่นนี้อาจก่อให้เกิดว้าวุ่นกังวลใจ เครียด วิตกกังวล ด้วยความเป็นห่วง…
เราจะรับมือเบื้องต้นอย่างไร ถ้าคนที่คุณห่วงใยยังไม่พร้อมไปพบผู้เชี่ยวชาญ…

1402.jpg

“ใช้ชีวิตสมดุล” ฟังดูง่าย…แต่ทำไมทำยาก

                 ความยืดหยุ่นทางจิตใจ  


เกร็ดความรู้ ชวนดูแลใจ :)

With You Every Step of the Way

2D252283-CCD5-40A0-B921-15E4861B9779.png

เป็นเพื่อนที่ดีกับตัวเอง

ถ้าเรามีเพื่อนที่เรารักและหวังดีกับเค้า เราจะใส่ใจห่วงใย ปฏิบัติต่อเค้ายังไงคะ…
แล้วเราเองได้ทำแบบนั้นกับตัวเองบ้างมั้ยนะ…
ชวนทุกคนมาใส่ใจกับ “การเป็นเพื่อนที่ดีกับตนเอง” กันค่ะ

ชีวิตในกระบวนการ…

ณ ขณะหนึ่ง…


สิ่งมีชีวิตล้วนต้องใช้เหตุปัจจัยในการปรับ เปลี่ยน แปลง เพื่อการเติบโต และคงไม่ได้เบ็ดเสร็จในเวลาเดียว

ค่อยเป็นค่อยไปก็ได้เนอะ…

272868851_651376166277109_424900096698847468_n.jpg

การพักเพื่อดูแลใจ เป็นสิ่งจำเป็น...เพราะชีวิต คือการเดินทางไกล

รถใช้งานยังต้องจอด ยังต้องซ่อมบำรุง…แล้วทำไมเราถึงจะไม่จอดพักใจบ้าง

Interested in learning more about the services I offer? Get in touch with me today to set up an initial consultation.

Ducks Over the Lake

สร้างความรู้ ขยายความเข้าใจเพื่อการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม

การปรึกษาทางจิตวิทยา คืออะไร ?

               การปรึกษาทางจิตวิทยา คือ กระบวนการพูดคุยปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้รับบริการ (client) และผู้ให้บริการ (counselor) ซึ่งเป็นกระบวนการพูดคุยที่เป็นไปอย่างมีแบบแผนและมีเป้าหมายเพื่อบรรเทาความทุกข์ ความไม่สบายใจของผู้รับบริการ ซึ่งผู้รับบริการอาจจะมีความทุกข์ความไม่สบายใจที่เกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก หรือพฤติกรรม โดยผู้ให้การปรึกษาจะดำเนินการปรึกษาบนแนวคิดทฤษฎีการปรึกษาเชิงจิตวิทยาและจิตบำบัดซึ่งได้รับการฝึกฝนและมีความเชี่ยวชาญมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุคคลและเหมาะสมกับลักษณะปัญหาของผู้รับบริการ  ซึ่งกระบวนนี้จะเอื้อให้ผู้รับบริการมีความเข้าใจตนเอง เข้าใจสภาวะการณ์ เข้าใจความทุกข์ความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นของตนเอง เพือนำไปสู่การยอมรับการเข้าอกเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น เอื้อให้บุคคลสามารถยอมรับปรับตัวหรือแก้ไขปัญหาต่อไปอย่างเหมาะสม

©2019 by Being Peace Center.

Dandelion Parachute Seed

สอบถามเพิ่มเติม /จองคิวนัดพบนักจิตวิทยา

ขั้นตอนการแจ้งเพื่อติดต่อทำนัด

1.กรอกข้อมูลเบื้องต้น

2.แจ้งวันและเวลาที่ท่านต้องการทำนัดพบนักจิตวิทยา


สามารถติดต่อ/เลือกวันและเวลาเข้ารับบริการได้ตั้งแต่วันจันทร์-เสาร์ เวลา 09.00 - 20.00 น. ปิดบริการทุกวันอาทิตย์ 

ติดต่อสอบถาม 064-021-5981

bottom of page